ส1.สืบค้น


วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารและข้าว
อำเภอเนินขาม จังหวัดชัยนาท

    วิสาหกิจชุมชน กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารและข้าว

เลขที่ 40 หมู่ที่ 8 ตำบลสุขเดือนห้า อำเภอเนินขาม จังหวัดชัยนาท
โทร. 08 9641 6550

GPS 0589978 165184

วิสัยทัศน์

“ปลูกข้าวไว้กิน เหลือกินค่อยขาย หมู่เฮาร่วมใจ พึ่งพาตนเอง”

ความเป็นมา

อำเภอเนินขาม เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอหันคา ทางราชการได้แบ่งพื้นที่การปกครองออกมาตั้งเป็น กิ่งอำเภอเนินขาม ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่1 มิถุนายนพ.ศ. 2540 โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่1 กรกฎาคม ปีเดียวกัน และในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 จึงมีพระราชกฤษฎีกายกฐานะขึ้นเป็น อำเภอเนินขาม โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน ปีเดียวกัน มีพื้นที่ประมาณ 168,750 ไร่ หรือ 270 ตารางกิโลเมตร อำเภอเนินขาม ห่างจากอำเภอหันคาประมาณ 12 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดชัยนาทประมาณ 50 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 196 กิโลเมตร ประชาชนมีอาชีพหลัก คือ เกษตรกรรม ได้แก่ ทำไร่ ทำนา และเลี้ยงสัตว์ โดยมีพื้นที่การเกษตรประมาณ 162,870 ไร่ แต่มีปัญหาที่สำคัญในการทำการเกษตร คือ การขาดแคลนน้ำเนื่องจากมีพื้นที่เป็นที่ราบสูง อยู่นอกเขตชลประทาน และไม่มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง นอกจากนี้ประชาชนอำเภอเนินขามยังมีอาชีพเสริมคือ การทอผ้า ดังคำขวัญอำเภอที่ว่า “สินค้าพื้นบ้าน หมอนขวานหลากสี ผ้าไหมชั้นดี มัดหมี่สวยงาม เนินขามบ้านเฮา”

หลักคิด

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารและข้าว เกิดจากการรวมกลุ่มของเกษตรกรในชุมชน เพื่อทำกิจกรรมผลิตปุ๋ยอินทรีย์เป็นลำดับแรก เนื่องจากเกษตรกร หมู่ที่ 8 บ้านบ่อม่วง ตำบลสุขเดือนห้า ต้องการ ลดต้นทุนการผลิตโดยการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง จากวัสดุที่มีในท้องถิ่น พัฒนาจากลักษณะผงเป็นการผลิต เป็นเม็ด โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณจากโครงการอยู่ดีมีสุข เป็นเงิน 119,000 บาท (ปี 2550) เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์การผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดจำนวน 1 ชุด ต่อมาได้รับการจัดสรรงบประมาณจากโครงการหมู่บ้าน/ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเงิน 200,000 บาท เพื่อสร้างอาคารโรงเรือน จำนวน 1 หลัง พร้อมจัดซื้อวัสดุในการผลิต และในปี 2551 ได้รับจัดสรรงบประมาณจากโครงการอยู่ดีมีสุขเป็นกรณีพิเศษ เป็นเงิน 1,000,000 บาท เพื่อใช้ในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ และสร้างโรงเรือนเพื่อเก็บปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุ จำนวน 1 หลัง รวมทั้งลานปูนซีเมนต์ขนาด 800 ตารางเมตร จำนวน 1 ล้าน หลังจากนั้นสมาชิกในกลุ่มฯ ได้เล็งเห็นว่ากิจการของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปุ๋ยอินทรีย์อยู่ในระดับดี ประกอบกับมีลานปูนซีเมนต์ และสมาชิกส่วนใหญ่ปลูกข้าวเพื่อบริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเมื่อนำข้าวเปลือกไปสีกับโรงสีข้าวเคลื่อนที่ในหมู่บ้าน ดังนั้น จึงต้องการลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิกในครัวเรือน จึงคิดต่อยอดกิจการโดยการจัดตั้งกลุ่มขึ้นเพื่อรับบริการสีข้าวเปลือกแก่เกษตรกรในชุมชน และชุมชนใกล้เคียง โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากโครงการกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 ปี 2554 จำนวนเงิน 517,900 บาท (เครื่องสีข้าวพร้อมอาคารโรงเรือน) และได้ดำเนินการขอจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2554 ชื่อ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารและข้าว รหัสทะเบียนเลขที่ ๑-๑๘-๐8-๐3/๑-๐๐๐4 โดยมีสมาชิกเริ่มก่อตั้ง 12 ราย ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 79 ราย

จุดเด่น

ข้อดีหรือลักษณะเด่นของกลุ่ม กลุ่มดำเนินกิจการตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เน้นปลูกข้าวและสีข้าวเพื่อบริโภคในครัวเรือนมากกว่าการสีข้าวเพื่อจำหน่าย จึงเชื่อมั่นได้ว่าปลอดภัยจากสารพิษ เมื่อเหลือจึงนำไปจำหน่ายต่อไป นอกจากนี้กลุ่มยังถ่ายทอดให้ความรู้และเทคนิคในการตากข้าวเพื่อให้ได้ปริมาณข้าวต้นเพิ่มขึ้น มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สมาชิกให้ความร่วมมือในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการดำเนินกิจการกลุ่ม สมาชิกทุกคนช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกัน มีการปกครองแบบเครือญาติที่มุ่งเน้นความสุขของชุมชนเป็นหลัก พึ่งพาตนเอง มีการสร้างรายได้ ในลักษณะเศรษฐกิจพอเพียงโดยไม่เน้นผลกำไรมากนักและไม่สนับสนุนการก่อหนี้ กลุ่มมีความเข้มแข็งสามารถดำเนินกิจการได้อย่างต่อเนื่อง เป็นที่ยอมรับของชุมชน
ปัจจุบันกลุ่มมีหุ้นดำเนินกิจการจำนวน 1,032 หุ้น เงินทุนหมุนเวียน 209,866 บาท สามารถสรุปผลการประกอบกิจการรายปีได้อย่างต่อเนื่องทุกปี มีการกำหนดกลยุทธ์ในการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ดังนี้

ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทุน

1. ส่งเสริมให้มีการสะสมทุนวิสาหกิจชุมชนในรูปแบบที่หลากหลาย
2. ให้มีการพัฒนาระบบการจัดการและการฟื้นฟูทรัพยากรภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของชุมชน
3. ให้มีการฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานเทคโนโลยีในการพัฒนา
4. เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทุนชุมชน

ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการวิสาหกิจชุมชน

1. ให้มีการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน และเครือข่ายชุมชนอย่างสัมพันธ์กัน
2. ให้มีการบริหารจัดการเชื่อมโยงวิสาหกิจชุมชนภายใต้ระบบเศรษฐกิจชุมชน
3. ส่งเสริมพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชน
4. ให้มีการบริหารจัดการอย่างโปร่งใสและสมาชิกสามารถตรวจสอบกันเองได้

ยุทธศาสตร์การลดรายจ่ายเพิ่มรายได้

1. ให้มีการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนประเภททดแทนการนำเข้าจากภายนอกชุมชน
2. ให้มีการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนอย่างครบวงจร (ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง)

ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบสวัสดิการชุมชน

1. กองทุนสวัสดิการของสมาชิกวิสาหกิจชุมชนเพื่อการช่วยเหลือพัฒนาสังคมภายในชุมชน
2. ให้มีการจัดการทรัพยากรของชุมชนอย่างยั่งยืน ทั้งเพื่อเป็นสวัสดิการโดยตรงและเพื่อเป็นต้นทุนหรือวัตถุดิบในกระบวนการวิสาหกิจชุมชน
3. การส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของชุมชนในภาพรวม
กิจกรรมของกลุ่ม ขบวนการผลิตทุกขั้นตอนไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผลผลิตของชุมชนต่อเนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นอาชีพหลัก ที่มีความเชื่อมโยงเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เพื่อตอบสนองการพึ่งพาตนเองของชุมชนและทดแทนการซื้อจากภายนอก เน้นการดำเนินงานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ไม่เน้นหนักในเรื่องผลกำไรแต่ต้องการให้กลุ่มอยู่ได้ด้วยตัวเอง และยั่งยืน) จากผลการดำเนินงาน กลุ่มนำเงินส่วนหนึ่งไปบริจาคให้แก่เด็กนักเรียนยากจน ภายในชุมชนและชุมชนใกล้เคียง ทำให้เกิดเป็นศูนย์รวมกิจกรรมในชุมชน ตามวิถีชีวิตวัฒนธรรม ประเพณี ของชุมชนสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น